"ยี่เป็ง"
คำว่า "ยี่" แปลว่า สอง และ "เป็ง" แปลว่า เพ็ญ หรือคืนเดือนเพ็ญ ในภาษาล้านนา ดังนั้น ยี่เป็ง จึงหมายถึงงานวันเพ็ญเดือนสองตามปฏิทินจันทรคติของล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองในปฏิทินจันทรคติของไทยเมื่อถึงคืนวันเพ็ญเดือนสอง นอกจากจัดเตรียมกระทงตามปกติแล้ว ชาวล้านนาจะจัดเตรียม ตกแต่งวัดวาอารามและบ้านเรือนด้วยต้นกล้วย ก้านมะพร้าว ตุง และโคมแขวนรูปแบบต่างๆ ทำบอกไฟดอก(ดอกไม้ไฟ)และ ผางประทีป(กระถางเทียนอันเล็กๆ) ไว้จุดตามริมขอบรั้วบ้านยามกลางคืน ตอนกลางวันจะมีการปล่อยว่าว (ว่าวควัน หรือโคมว่าว) ขนาดใหญ่ซึ่งใช้วิธีรมควันให้เต็มโคม และโคมว่าวทุกตัวจะมีหางยาวๆ ติดไว้ตรงด้านล่างและผูกเงินหรือเสื้อผ้าข้าวของใช้บางอย่างติดไปกับหางโคมว่าวด้วย และตอนกลางคืนจะมีการปล่อยโคมลอย (โคมไฟ) เพื่อบูชาพระระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์
ปัจจุบันความเชื่อเรื่องการลอยกระทง ปล่อยโคมว่าว โคมลอยต่างๆ มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำเพื่อบูชาพระพุทธศาสนาและเป็นการสะเดาะเคราห์ ปล่อยความโชครายให้ล่องลอยไปกับสายน้ำและอากาศ แต่ต้นกำเนิดที่แท้จริงของประเพณียี่เป็งของล้านนานั้น มีที่มาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ตามพงศาวดารโยนก และหนังสือจามเทวีวงศ์ เขียนสอดคล้องกันว่า จุลศักราช 309 (พ.ศ.1490) พระยาจุเลราชได้ครองราชสมบัติในนครหริภุญชัย สมัยนั้นได้เกิดโรคระบาดผู้คนล้มตายเป็นอันมาก ประชาชนส่วนใหญ่จึงพากันอพยพหนีภัยไปอาศัยอยู่ในเมืองพม่า จนกระทั่งถึงเวลาที่โรคระบาดได้สงบลงแล้ว ชาวเมืองเหล่านั้นจึงได้อพยพกลับสู่ถิ่นฐานเดิมอีกครั้ง แต่เนื่องจากใช้เวลาอาศัยอยู่ในพม่าหลายปี ประกอบกับการเิดินทางที่ยาวไกลและลำบาก บางคนก็แก่ชราเกินกำลังที่จะเดินทางไหว บ้างก็แต่งงานมีครอบครัวอยู่ในเมืองพม่า บ้างก็แยกย้ายไปอาศัยอยู่ในเมืองอื่น บ้างก็ล้มหายตายจากไปแล้ว
เมื่อกลับมาถึงเมืองหริภุณชัยชาวเมืองทั้งหลายได้ถือเอาวันเพ็ญเดือนยี่ พวกเขาจัดเตรียมเสื้อผ้าอาหารและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ใส่ไว้ในสะเปา (เรือที่ทำจากไม้ไผ่หรือต้นกล้วย) แล้วนำไปลอยในแม่น้ำเืพื่อหวังว่าสายน้ำจะนำพาสิ่งของเหล่านี้ลอยไปถึงเมืองหงสาอันไกลโพ้น ให้ถึงญาติพี่น้องที่ต้องพลัดพรากจากกัน และเป็นการทำบุญให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับ และกลายเป็นประเพณีสืบทอดมาถึึงปัจจุบัน แม้จะมีความเชื่อและพิธีการที่แตกต่างจากเดิมมากแล้วก็ตาม
ทุกปีเชียงใหม่จะจัดงานประเพณียี่เป็งอย่างยิ่งใหญ่ มีวันลอยกระทงเล็กที่พวกเรานำกระทงไปลอยในแม่น้ำ เล่นดอกไม้ไฟ และปล่อยโคมลอย และวันลอยกระทงใหญ่ที่มีขบวนแห่และประกวดกระทงและนางนพมาศ โดยเฉพาะการปล่อยโคมลอยจำนวนมหาศาลที่ทำให้ท้องฟ้าเมืองเชียงใหม่ในคืนยี่เป็ง ประหนึ่งมีดวงดาวประดับท้องฟ้าเพิ่มขึ้นอีกนับแสนนับล้านดวง
ยี่เป็ง ปีนี้(2554) จัดงานระหว่างวันที่ 9-10-11 พฤศจิกายนนี้
ถ้ามีเวลามีโอกาสอย่าพลาดงานประเพณี "ยี่เป็ง" งานลอยกระทงที่ไม่เหมือนใครที่เชียงใหม่นะครับ http://www.youtube.com/watch?v=WUbTNdbu3vk&feature=related