ดอกฝิ่นบานสะพรั่งที่ดอยปุย

เข้าสู่ฤดูหนาวของทุกปี จังหวัดทางภาคเหนือและอีสานต้องคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะภาคเหนืออย่างจังหวัดเชียงใหม่ มักเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่ผู้คนเลือกที่จะมาท่องเทียวเยี่ยมชมสัมผัสอากาศหนาวเย็นกันทุกปี



วัดพระธาตุดอยสุเทพ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเปรียบประดุจสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ที่ใครๆ เมื่อมาถึงเชียงใหม่ต้องไปสักการะกราบไหว้ขอพร หรือถ่ายภาพกับวิวทิวทัศของเมืองเชียงใหม่ที่มองลงมาจากยอดดอยสูง

แต่ทราบหรือไม่ว่า ถัดจากวัดพระธาตุดอยสุเทพขึ้นไปอีกเพียงไม่กี่กิโลเมตร ยังมีพระตำหนักฤดูหนาวอย่างพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวชที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้าชมสวนดอกไม้อันงดงามในพระตำหนัก และไม่ไกลนักจากพระตำหนักขึ้นไปยังมีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งอีกสองหมู่บ้าน คือบ้านม้งขุนช่างเคียนที่มีชื่อเสียงเรื่องดอกซากุระเมืองไทยอันงดงาม และหมู่บ้านม้งดอยปุย ที่เมื่อไปเยี่ยมชมหมู่บ้านนี้ในฤดูหนาวแล้วละก็ จะได้ตื่นตาตื่นใจกับดอกไม้ที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดชนิดหนึ่งในโลก และเป็นดอกไม้ที่หาดูได้ยากที่สุดชนิดหนึ่งของโลกอีกเช่นกัน นั่นคือ ดอกฝิ่น นั่นเอง

ที่ดอยปุยแห่งนี้อดีตชาวเขาเผ่าม้งได้อาศัยการปลูกฝิ่น ทำยาฝิ่นจำหน่ายเป็นรายได้หลักจุนเจือครอบครัว แต่หลังจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้มีการจัดตั้งมูลนิธิโครงการหลวงเข้าไปช่วยเหลือปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่เคยอาศัยการทำไร่ฝิ่นมาเป็นการทำสวนเกษตรปลูกผักและผลไม้เมืองหนาว และหาตลาดรองรับ ทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมและหาที่พักค้างแรมสัมผัสอากาศหนาวเย็นที่บนยอดดอยนี้ได้ จนทำให้คุณภาพชีวิตของชาวม้งดีขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยรายได้จากยาเสพติดอีกต่อไป ทำให้ปัญหายาเสพติด และการแผ้วถางป่าทำไร่ฝิ่นหมดไปจากดอยปุยในที่สุด

ปัจจุบันบ้านม้งดอยปุย ได้มีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงเกษตร เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตชองชาวม้ง มีการทำพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านเก็บรักษาประวัติความเป็นมา และเครื่องใช้ไม้สอยในอดีตของพวกเขา และที่เป็นไฮไลท์ของที่นี่ก็คือ มีการทำสวนดอกไม้กลางหุบเขาปลูกดอกไม้หลากหลายชนิดรวมทั้งดอกฝิ่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสกับดอกฝิ่นของจริงกันได้ที่นี่

ปัจจุบันที่หมู่บ้านแห่งนี้ปลูกดอกฝิ่นไว้เพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น ไม่ได้นำมาผลิตเป็นยาฝิ่น หรือยาเสพติดใดๆ อีกแล้ว มีการดูแลควบคุมอย่างดี

ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดหากท่านจะไปเที่ยวชมดอกฝิ่น คือช่วงปลายปีประมาณเดือนพฤษจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ และดอกฝิ่นจะบานสะพรั่งสวยงามที่สุดช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น และที่บ้านม้งดอยปุยก็มีต้นดอกซากุระเมืองไทย ออกดอกสีชมพูบานเต็มต้นให้ได้ชมเช่นเดียวกัน ถึงแม้จะน้อยกว่าที่หมู่บ้านม้งขุนช่างเคี่ยนก็ตาม

งานลอยกระทงที่เชียงใหม่ทำไมต้องเป็น "ยี่เป็ง"

"ยี่เป็ง"
คำว่า "ยี่" แปลว่า สอง และ "เป็ง" แปลว่า เพ็ญ หรือคืนเดือนเพ็ญ ในภาษาล้านนา ดังนั้น ยี่เป็ง จึงหมายถึงงานวันเพ็ญเดือนสองตามปฏิทินจันทรคติของล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองในปฏิทินจันทรคติของไทย

                 เมื่อถึงคืนวันเพ็ญเดือนสอง นอกจากจัดเตรียมกระทงตามปกติแล้ว ชาวล้านนาจะจัดเตรียม ตกแต่งวัดวาอารามและบ้านเรือนด้วยต้นกล้วย ก้านมะพร้าว ตุง และโคมแขวนรูปแบบต่างๆ ทำบอกไฟดอก(ดอกไม้ไฟ)และ ผางประทีป(กระถางเทียนอันเล็กๆ) ไว้จุดตามริมขอบรั้วบ้านยามกลางคืน ตอนกลางวันจะมีการปล่อยว่าว (ว่าวควัน หรือโคมว่าว) ขนาดใหญ่ซึ่งใช้วิธีรมควันให้เต็มโคม และโคมว่าวทุกตัวจะมีหางยาวๆ ติดไว้ตรงด้านล่างและผูกเงินหรือเสื้อผ้าข้าวของใช้บางอย่างติดไปกับหางโคมว่าวด้วย และตอนกลางคืนจะมีการปล่อยโคมลอย (โคมไฟ) เพื่อบูชาพระระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์

                 ปัจจุบันความเชื่อเรื่องการลอยกระทง ปล่อยโคมว่าว โคมลอยต่างๆ มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำเพื่อบูชาพระพุทธศาสนาและเป็นการสะเดาะเคราห์ ปล่อยความโชครายให้ล่องลอยไปกับสายน้ำและอากาศ แต่ต้นกำเนิดที่แท้จริงของประเพณียี่เป็งของล้านนานั้น มีที่มาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

                ตามพงศาวดารโยนก และหนังสือจามเทวีวงศ์ เขียนสอดคล้องกันว่า จุลศักราช 309 (พ.ศ.1490) พระยาจุเลราชได้ครองราชสมบัติในนครหริภุญชัย สมัยนั้นได้เกิดโรคระบาดผู้คนล้มตายเป็นอันมาก ประชาชนส่วนใหญ่จึงพากันอพยพหนีภัยไปอาศัยอยู่ในเมืองพม่า จนกระทั่งถึงเวลาที่โรคระบาดได้สงบลงแล้ว ชาวเมืองเหล่านั้นจึงได้อพยพกลับสู่ถิ่นฐานเดิมอีกครั้ง แต่เนื่องจากใช้เวลาอาศัยอยู่ในพม่าหลายปี ประกอบกับการเิดินทางที่ยาวไกลและลำบาก บางคนก็แก่ชราเกินกำลังที่จะเดินทางไหว บ้างก็แต่งงานมีครอบครัวอยู่ในเมืองพม่า บ้างก็แยกย้ายไปอาศัยอยู่ในเมืองอื่น บ้างก็ล้มหายตายจากไปแล้ว
                  เมื่อกลับมาถึงเมืองหริภุณชัยชาวเมืองทั้งหลายได้ถือเอาวันเพ็ญเดือนยี่ พวกเขาจัดเตรียมเสื้อผ้าอาหารและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ใส่ไว้ในสะเปา (เรือที่ทำจากไม้ไผ่หรือต้นกล้วย) แล้วนำไปลอยในแม่น้ำเืพื่อหวังว่าสายน้ำจะนำพาสิ่งของเหล่านี้ลอยไปถึงเมืองหงสาอันไกลโพ้น ให้ถึงญาติพี่น้องที่ต้องพลัดพรากจากกัน และเป็นการทำบุญให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับ และกลายเป็นประเพณีสืบทอดมาถึึงปัจจุบัน แม้จะมีความเชื่อและพิธีการที่แตกต่างจากเดิมมากแล้วก็ตาม

ทุกปีเชียงใหม่จะจัดงานประเพณียี่เป็งอย่างยิ่งใหญ่ มีวันลอยกระทงเล็กที่พวกเรานำกระทงไปลอยในแม่น้ำ เล่นดอกไม้ไฟ และปล่อยโคมลอย และวันลอยกระทงใหญ่ที่มีขบวนแห่และประกวดกระทงและนางนพมาศ โดยเฉพาะการปล่อยโคมลอยจำนวนมหาศาลที่ทำให้ท้องฟ้าเมืองเชียงใหม่ในคืนยี่เป็ง ประหนึ่งมีดวงดาวประดับท้องฟ้าเพิ่มขึ้นอีกนับแสนนับล้านดวง


ยี่เป็ง ปีนี้(2554) จัดงานระหว่างวันที่ 9-10-11 พฤศจิกายนนี้
ถ้ามีเวลามีโอกาสอย่าพลาดงานประเพณี "ยี่เป็ง" งานลอยกระทงที่ไม่เหมือนใครที่เชียงใหม่นะครับ 


http://www.youtube.com/watch?v=N9Ko-yvJzHU&feature=fvwrel
http://www.youtube.com/watch?v=WUbTNdbu3vk&feature=related

การขยายขนาดและเพิ่มความยาว

จั่วหัวมาอย่างนี้หลายคนอาจคิดไปไกลถึงเรื่องอวัยวะบางส่วนของท่านชาย แต่ขออภัยเพราะคราวนี้จะเป็นการพูดถึงการขยายขนาด และการเพิ่มความยาวของผู้หญิงกันบ้าง (เอ๊ะยังไง)

อย่าเพิ่งคิดไปไกลเพราะบทความนี้จะพูดถึงการเพิ่มขนาด ขยายขนาดของอวัยวะร่างกาย ในวัฒนธรรมการแต่งกาย การประดับตกแต่งร่างกายของผู้หญิงชาวชนเผ่าสองเผ่าที่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงโด่งดังไปถึงต่างแดน คือหญิงสาวชาวกระเหรี่ยงคอยาวหรือกะยัน และกระเหรี่ยงหูใหญ่หรือชาวเผ่ากะเยอนั่นเอง


หลายปีมานี้กระเหรี่ยงคอยาวหรือชาวเผ่ากะยัน นับเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นจุดขายของการท่องเที่ยวในจังหวัดทางภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และเชียงราย ถึงแม้บางครั้งอาจถูกมองว่าเป็นการแสดงคล้ายสวนสัตว์มนุษย์ และอาจมีการต่อต้านอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ดี สองชนเผ่านี้มีความเชื่อและวัฒนธรรมการสวมใส่ห่วงทองเหลือง และตุ้มหูที่ช่วยขยายขนาด และเพิ่มความยาวของอวัยวะของร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งแปลกและเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง


ขนาดความยาวของคอของหญิงชาวกะยัน เกิดจากการที่พวกเธอสวมใส่ห่วงทองเหลืองไว้ที่คอ ซึ่งแท้จริงแล้วขนาดของคอของพวกเธอไม่ได้ยาวขึ้นอย่างที่พวกเราคิด แต่เกิดจากกระดูกส่วนหัวไหล่ที่ถูกน้ำหนักของทองเหลืองกดทับจนยุบลงมาต่ำกว่าปกติ จากการทดสอบพาหญิงชาวกะยันมาถ่ายภาพเอ็กซเรย์ พบว่ากระดูกส่วนลำคอของพวกเขาเหมือนกับคนชาวเผ่าอื่นๆ และคอของพวกชาวเราอย่างไม่ผิดเพี้ยน ไม่มีการยืดเพิ่มขนาด หรือเพิ่มความยาวแต่อย่างใด แต่กลับพบว่ากระดูกหัวไหล่ได้ถูกกดทับจนกระทั่งบิดเบี้ยวโน้มลงมาด้านล่าง ซึ่งทำให้พวกเธอดูเหมือนว่าลำคอยาวกว่าคนปกติทั่วไป

น้ำหนักของทองเหลืองที่หญิงชาวกะยันสวมใส่เมื่ออายุประมาณยี่สิบห้าปีขึ้นไปจะอยู่ที่ประมาณ 4-6 กิโลกรัม ซึ่งหนักมากพอที่จะกดทับให้กระดูกหัวใหล่ยุบลง
ชาวกะยัน จะเริ่มสวมห่วงทองเหลืองให้กับเด็กสาวของเผ่าตั้งแต่อายุ 3-5 ปี โดยใช้เส้นทองเหลืองกลมแท่งยาวมาดัดพันรอบคอ มีลักษณะคล้ายกับสปริง และพวกเธอจะสวมมันตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันไม่มีการถอดออก เว้นแต่เมื่อต้องการเพิ่มขนาด เพิ่มความยาวโดยการนำออกมาเชื่อมต่อให้ยาวขึ้น หรือเปลี่ยนเส้นใหม่แล้วทำการดัดพันสวมเข้าไปใหม่

มีเรื่องเล่าและตำนานมากมายบอกถึงเหตุผลที่พวกเขาต้องสวมใส่ห่วงทองเหลืองนี้เพื่อเพิ่มความยาวของคอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำทองคำมาสวมใส่ของเจ้าหญิงของพวกเขา เรื่องการสวมใส่ทองเหลืองเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย หรือเรื่องตราบาปที่ต้องสวมใส่สิ่งเหล่านี้จนกว่าจะกลับไปทวงคืนแผ่นดินของพวกเขา แต่ในปัจจุบันหากถามว่าทำไมต้องสวมใส่ทองเหลืองทำไมต้องทำให้คอยาวขึ้น คำตอบที่ตรงที่สุดคงเป็นเรื่องของความงามและเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเท่านั้น

ชาวเผ่ากะยันเป็นผู้ที่รักสวยรักงาม พวกเขาเชื่อว่าขนาดที่ยาวขึ้นของลำคอ การเพิ่มขนาดความยาวด้วยห่วงทองเหลือง ทำให้พวกเธอสวยงาม และแสดงถึงฐานะทางสังคม ยิ่งเพิ่มความยาวมากเท่าไหร่ก็ยิ่งสวย ยิ่งมีหน้ามีตา มีฐานะ เป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่งนั่นเอง


ส่วนการเพิ่มขนาดรูของตุ้มหูของชาวเผ่ากะเยอนั้น ก็มีเหตุผลไม่ต่างจากการเพิ่มความยาวของลำคอของชาวเผ่ากะยันเท่าใดนัก พวกเขาเชื่อว่ารูของตุ้มหูยิ่งกว้าง ยิ่งขยายขนาดให้ใหญ่ก็ยิ่งสวยงาม และเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

ชาวกะเยอจะทำการเจาะหูตั้งแต่ยังเด็ก และค่อยๆเพิ่มขนาดของตุ้มหูรูปวงแหวนซึ่งทำจากเงิน จนกระทั่งเมื่อโตเป็นสาวและมีอายุมากขึ้นอาจมีขนาดรูเท่าๆกับเส้นรอบวงของขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาทหรือ 10 บาทที่ขายกันทั่วไป หรือบางครั้งอาจใหญ่กว่าด้วยซ้ำ

ความแตกต่างทางวัฒนธรรมอาจทำให้พวกเรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้แปลกประหลาด และดูเหมือนจะเป็นวิถีที่ทำให้การใช้ชีวิตลำบาก และน่าสงสาร แต่อันที่จริงจะคิดอย่างนั้นก็คงไม่ถูกต้องนัก สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของพวกเขา ในสายตาของเขาเราต่างหากที่แปลก ขนาดคอที่สั้นและใบหูที่เล็ก อาจดูตลกหรือไม่สวยงามในสายตาของพวกเขาเช่นกัน ด้วยความเคารพในวัฒนธรรมความคิดที่แตกต่าง การเพิ่มขนาด เพิ่มความยาว หรือการตกแต่งร่างกายของชนเผ่าต่างๆเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งความงาม และความหลากหลาย ที่ช่วยเติมแต่งสีสันให้กับโลก และไม่ควรดูถูกในความเชื่อความนิยมที่ไม่เหมือนกันนี้

คิดอีกทางหนึ่งก็เหมือนกับชาวเอเชียอย่างเราๆท่านๆหลายๆคน ที่ยังคงต้องสวมชุดสูท ผูกเน็คไท อดทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวออกไปทำงาน ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ ความสวยงาม ดูดี มีฐานะทางสังคม เป็นเครื่องประดับที่ชนเผ่าเรารับมาเป็นวัฒนธรรม และไม่รู้สึกว่าแปลกหรือลำบากอะไร เช่นเดียวกับพวกชนเผ่าเหล่านี้ที่อาจจะต้องทนเจ็บ ทนกับความไม่สะดวกในการสวมใส่สิ่งเหล่านั้น แต่พวกเขาก็อดทน และเคยชินเสียจนไม่รู้สึกว่าลำบากอะไรเลยเหมือนกันนั่นเอง